การเรียนไสยศาสตร์ให้สัมฤทธิ์ผลนั้น เป็นเรื่องของการฝึกจิตให้เกิดสมาธิผนวกกับอำนาจของแรงครูและศรัทธาของตัว ผู้เรียนเอง ตามหลักการแล้วเราสามารถจำแนกประเภทของผู้เรียนไสยศาสตร์ ได้สามประเภท ซึ่งจะเกิดสัมฤทธิ์ผลได้สองประเภทตามนี้
ประเภทที่ 1 เรียกว่าพวกโง่ที่สุด คือมีการศึกษาวิชาไสยศาสตร์น้อย แต่มีศรัทธาสูง มีจิตมั่นในไสยเวท อาจารย์สั่งอะไรก็เชื่อตามนั้น ไม่ลังเลสงสัย สามารถเสกคาถาอาคมให้เกิดผลสำเร็จตามปราถนาได้ แสดงฤทธิ์ได้ จะยกตัวอย่างให้เข้าใจชัดเจนตามนี้ เกี่ยวกับ คำบริกรรมว่า "นะ โม พุท ธา แยะ" มีพระรูปหนึ่งเรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง โดยให้บริกรรมว่า "นะ โม พุท ธา ยะ" แต่พระรูปนั้น ท่านจำผิดว่า "นะ โม พุท ธา แยะ" เมื่อท่านเข้าไปบำเพ็ญเพียรในป่า ด้วยคาถา “นะ โม พุท ธา แยะ” นี้ ท่านสามารถเนรมิตสิ่งต่างๆ ได้ สามารถแสดงปาฏิหาริย์ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำบริกรรมที่ผิด แต่เพราะความศรัทธาและมั่นใจในตัวคาถาตลอดจนครูบาอาจารย์ จึงทำให้ท่านไม่มีความลังเลสงสัยใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างจึงสัมฤทธิ์ผล
จนกระทั่งวันหนึ่ง มีคณะพระภิกษุเข้าไปธุดงค์ในป่า ไปพบภิกษุรูปนี้เข้า ท่านเองจึงเนรมิตสิ่งต่างๆ ถวาย ด้วยฤทธิ์ที่เกิดจากการบริกรรมพระคาถา "นะ โม พุท ธา แยะ" นี้เอง เพื่อเป็นการต้อนรับ ทำให้คณะพระธุดงค์เกิดความเลื่อมใส จึงถามว่า ท่านบริกรรมคาถาอะไรถึงได้เก่งขนาดนี้ พระองค์นี้จึงตอบว่า “นะ โม พุท ธา แยะ” คณะพระธุดงค์ถึงกับตกใจ และตอบไปว่า ท่านท่องคาถามาผิดแล้วนะ อันที่จริงต้องท่องว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” ต่างหาก พระรูปนี้ถึงกับจิตตกที่ตนท่องผิด เมื่อจิตมีความเศร้าหมอง การแสดงปาฏิหาริย์ต่างๆ จึงไม่เป็นผล ท่านเกิดความร้อนใจ จึงรีบออกจากป่าไปหาพระอาจารย์ที่เคยเรียนวิชามา เมื่อไปถึง ท่านจึงถามพระอาจารย์ว่า ผมท่องคำบริกรรมผิดหรือครับ ด้วยความฉลาดของพระอาจารย์ ท่านรู้ว่าถ้าตอบตรงๆ จะทำให้เสียหายใหญ่ จึงตอบว่า ที่ว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” นั้น เป็นตัวผู้ ที่ว่า “นะ โม พุท ธา แยะ” นั้น เป็นตัวเมีย จะใช้อย่างไหนก็ได้เหมือนกัน ที่ตอบอย่างนี้ก็เป็นการรักษากำลังใจไม่ให้จิตตก เมื่อพระลูกศิษย์ได้รับคำตอบแล้ว รู้สึกดีใจ จึงรีบกลับเข้าไปในป่าอีกครั้งหนึ่ง ในเมื่อท่านเข้าใจว่าคำบริกรรมทั้งสองนั้นไม่ผิด จิตของท่านจึงไม่มีความกังวลใดๆ ความผ่องใสแห่งจิตจึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไม่ว่าจะบริกรรมด้วยคาถาใดก็ตาม สามารถแสดงฤทธิ์ได้ทั้งนั้น ดังนั้น ความศรัทธาสูงและมั่นในพระคาถา จึงมีความสำคัญและจำเป็นสำหรับผู้เรียน
ประเภทที่ 2 เรียกว่าพวก เชื่อครึ่งๆ กลางๆ มีความลังเลสงสัยมาก กล่าวคือมีการศึกษามาก ทำให้ลังเลสงสัยในเรื่องจิตและวิชาไสยศาสตร์ กังวลว่าเสกแบบนี้แล้วจะเป็นไปตามคำสั่งอาจารย์จริงหรือเปล่า หรือเรียนวิชามาหลายแห่งแต่ข้อมูลที่ได้มาไม่เหมือนกัน เช่นเรียนวิชาเดียวกันแต่วิธีการต่างกัน ทำให้เกิดสงสัยในตัววิชา ส่งผลให้ความเชื่อมั่นลดลง และทำให้อำนาจจิตลดลงด้วยเช่นกัน คนประเภทนี้จึงเรียนให้สัมฤทธิ์ผลได้ยาก นอกจากจะพัฒนามาเป็นประเภทที่ 3
ประเภทที่ 3 เรียกว่าพวกฉลาดที่สุด พวกนี้มีความเข้าใจเรื่องจิต เรื่องคุณพระ รักพระพุทธเจ้า รักครูบาอาจารย์จริงๆ เข้าถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รู้ที่มาของอักขระตัวคาถา ว่ามาจากไหน เหตุใดตัวคาถาไม่กี่ตัว จึงมีอิทธิปาฏิหาริย์มากนัก เข้าถึงความมหัศจรรย์แห่งจิต สามารถสัมผัสพลังคุณพระได้ จิตจึงไม่มีความลังเลสงสัย เพราะได้ทำการค้นคว้าหาเหตุผลอยู่ตลอดเวลาจนเข้าใจ และเข้าถึงคุณพระ สามารถเสกคาถาอาคมให้เกิดผลสำเร็จตามปราถนาได้ แสดงฤทธิ์ได้เหนือล้ำกว่าประเภทแรก และมีความพิศดารมากกว่า
ที่มา: www.amulet.in.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น