หน้าเว็บ

วันพุธที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2556

ศาสนากับไสยศาสตร์


     ศาสนากับไสยศาสตร์มีความคล้ายคลึงกันหลายประการ โดยเฉพาะศาสนาแบบชาวบ้าน ซึ่งมีการผสมผสานความเชื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน ศาสนา และไสยศาสตร์ เชื่อสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ มีพิธีกรรมหลายอย่างที่คล้ายกัน การปฏิบัติในชีวิตประจำวันในหลายๆ กรณีก็ไม่แตกต่างกัน



ความแตกต่างระหว่างศาสนากับไสยศาสตร์ที่สำคัญ คือ

     ศาสนาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต เพื่อเป้าหมายสูงสุด อันได้แก่ ความหลุดพ้นจากทุกข์ ความสุขอันสมบูรณ์ เมื่อจากโลกนี้ไป เป็นคำอธิบายถึงสาเหตุแห่งทุกข์และแนวทางปฏิบัติ เพื่อการพ้นทุกข์นั้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติทุกวัน จนตลอดชีวิต

     ไสยศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยการควบคุมอำนาจอันลึกลับ ซึ่งเชื่อว่า มีอยู่ในโลก ในธรรมชาติ และในจักรวาล เพื่อให้อำนาจนั้น บันดาลให้เกิดผลที่พึงปรารถนา เช่น การรักษาโรค การทำเสน่ห์ยาแฝดให้ผู้คนหลงใหล การสักลายต่างๆ เพื่อความอยู่ยงคงกะพัน การแขวนวัตถุมงคล เพื่อให้พ้นภัย การทำอิทธิปาฏิหาริย์ เพื่อให้เกิดผลที่ต้องการ การท่อง บ่นคาถา เป็นต้น

     ไสยศาสตร์มีทั้งไสยศาสตร์ขาว ซึ่งเป็นวิธีการให้เกิดผลดี โชคลาภ และสิริมงคล เช่น การ รักษาโรคต่างๆ มีไสยศาสตร์ดำ ซึ่งกระทำ เพื่อให้เกิดผลร้ายต่อผู้อื่น เช่น การเสกตะปูเข้าท้อง การทำร้ายด้วยเวทมนตร์คาถา เป็นต้น จะเท็จจริงแค่ไหน เป็นเรื่องที่ผู้คนจำนวนมากยังเชื่อกันอยู่

     ไสยศาสตร์จึงเป็นเรื่องการใช้อำนาจลึกลับ เพื่อผลประโยชน์เฉพาะหน้า ให้ได้สิ่งของต้องประสงค์ ไม่ใช่วิถีปฏิบัติ เพื่อผลระยะยาว ที่ทำให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข และเพื่อความหลุดพ้น ไสยศาสตร์ยังอยู่ในความโลภ และความปรารถนา สำหรับตน แม้อาจจะแก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ไม่อาจจะช่วยให้พ้นทุกข์ในระยะยาวได้

     ศาสนาสอนให้มีความอ่อนน้อมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และอำนาจเหนือธรรมชาติ ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างสม่ำเสมอ ไสยศาสตร์ทำให้คนเชื่อว่า ตนเองมีอำนาจในการควบคุมอำนาจลึกลับต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตน

     การปฏิบัติศาสนากลายเป็นเรื่องไสยศาสตร์ไป เมื่อคนปฏิบัติศาสนา โดยคิดแบบไสยศาสตร์ ปฏิบัติเพื่อผลเฉพาะหน้า บนบานขอโชคลาภ เช่น การแขวนพระ น่าจะมีความหมายเพียง เพื่อเตือนสติให้รำลึกถึงพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า คนจำนวนมากแขวนพระ เพื่อเป็นเครื่องรางของขลัง ให้พระคุ้มครองรักษา โดยอาจจะไม่เคยคิดถึงพระธรรม หรือรักษาศีลเลย คนที่คิดเช่นนี้ย่อมสงสัยว่า ทำไมทำดีไม่ได้ดีเสมอไป ทำไมคนชั่วจึงได้ดีมีบ่อยครั้ง คนที่ปฏิบัติศาสนาอย่างถูกต้องจะไม่สงสัยหลักธรรมข้อนี้เลย เพราะเขาทำดีเมื่อใด เขาก็ได้ดีในจิตใจเมื่อนั้น ไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นลาภยศ นอกนั้นชีวิตของเขาที่ประกอบแต่กรรมดี ย่อมเป็นชีวิตที่ดีงามอยู่แล้ว

     ทุกศาสนาจะมีปัญหาความสับสนระหว่าง ศาสนากับไสยศาสตร์ เพราะศาสนิกจำนวนหนึ่ง ยังคงยึดติดกับความเชื่อ ที่ผสมผสานกับศาสนา ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อท้องถิ่น ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องผีมากที่สุด นอกนั้น ถ้าหากความเชื่อในศาสนาไม่แข็งแกร่งพอ ก็ย่อมยังมีความโลภ และความเห็นแก่ตัว วิธีคิดจึงยังคงเป็นไป เพื่อประโยชน์เฉพาะหน้าของตน มากกว่าที่จะคิดถึงคุณค่า ความดีงาม และความหลุดพ้น

อ้างอิงจาก :: kanchanapisek.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น