หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กสิณ กรรมฐามอันทรงพลัง #003 :: ฌานสมาธิ

ผู้มีบุญ กับผู้มีฌานสมาธิ แตกต่างกันอย่างไร


   ผู้มีบุญ คือ ผู้ที่เคยสร้างบารมีธรรมมาในอดีตชาติ และในชาติปัจจุบัน จะสำเร็จฌานหรือยังไม่สำเร็จฌานก็ได้ ผู้มีบุญจะฝึกสมาธิได้ง่ายกว่าคนธรรมดา เพราะเคยสร้างสมมา เรียกว่า เอาบุญมาต่อเป็นฌานสมาธิ เพื่อถือศีลปฏิบัติธรรม

   ผู้มีฌาน คือ ผู้ที่ใช้ความเพียรในปัจจุบัน อบรมจิตภาวนา จนสำเร็จฌานสมาธิ

ผู้มีบุญ เรียกว่า บุญฤทธิ์ , ผู้มีฌาน เรียกว่า ฌานฤทธิ์ จึงแตกต่างกัน

หมายเหตุ : ผู้ที่มีบุญเคยสั่งสมบารมีด้านของกสิณมาในอดีตชาติ สามารถฝึกกสิณจนได้ฌานอย่างรวดเร็ว เรียกว่า บุญเป็นเหตุให้เกิดฌานสมาธิ หรือมีบุญจึงสำเร็จฌานได้อย่างง่ายดาย

บุญฤทธิ์กับฌานฤทธิ์ แตกต่างกันอย่างไร


   บุญฤทธิ์ สามารถเห็นสัมภเวสี เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าฌานสมาธิ
   บุญฤทธิ์ : สัมภเวสี หรือเทวดา จะมาปรากฏให้เห็นก็ได้ หรือจะเพ่งมองดูก็สามารถเห็นได้เช่นกัน แต่จะเห็นบางครั้งบางเวลาที่จิตสงบ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องการให้เห็น แต่ยิ่งใช้บุญฤทธิ์มากเท่าใด บุญตัวเองยิ่งลดลง เป็นข้อเสียของบุญฤทธิ์ ต้องหมั่นสร้างบุญกุศลอยู่เสมอ

   ฌานฤทธิ์ : ต้องสำเร็จตาทิพย์ก่อน จึงสามารถเห็นสัมภเวสี เทวดา หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้
   ฌานฤทธิ์ จะต้องเข้าฌานเพื่อเพ่งมองดูสิ่งลี้ลับที่คนธรรมดามองไม่เห็น เช่น สัมภเวสี หรือเทวดา เป็นต้น การสำเร็จฌานอย่างเดียวไม่พอ ต้องสำเร็จตาทิพย์ด้วยถึงจะทำได้ และสามารถกำหนดได้ทุกครั้งที่ต้องการเห็น บุญตัวเองจะไม่ลดลงเหมือนบุญฤทธิ์ เพราะเป็นการใช้ฌาน จึงไม่เกี่ยวข้องกับบุญ แต่อย่างใด

ไม่ยึดติดอย่างไร ถึงไปถูกทาง


   การที่ได้ฌานสมาธิ ต้องผ่านนิมิตต่างๆ ถึงสามารถละวางได้ และปล่อยวางได้ในที่สุด เริ่มต้นจากขั้นพื้นฐาน จนผ่านปีติและสุขในนิมิต และถึงขั้นสูงปล่อยวางได้ อภิญญาก็สักว่าอภิญญา ไม่ยึดติด ใจเราก็สงบ ด้วยสติ

   ดังนั้น มีแล้วไม่ยึดติด เรียกว่า ปล่อยวางได้ ที่ยังยึดติดอยู่แสดงว่า ปฏิบัติไม่ถึงขั้นปล่อยวาง จำเป็นต้องพัฒนาจิตตัวเอง ในลำดับต่อไป จนละวาง และปล่อยวางได้ในที่สุด

ไม่ยึดติดอย่างไร ถึงไปผิดทาง


    การไม่ยึดติด แต่เอานิมิตมาโจมตีผู้อื่น หรือเอาอภิญญามาโจมตีผู้อื่น เพราะตัวเองปฏิบัติวิปัสสนา ก็ยังใช้ไม่ได้ เรียกว่า มีทิฐิอยู่

   การไม่ยึดติด ต้องไม่โจมตี และไม่ว่าร้ายใคร จึงเป็นผู้ที่เจริญ แล้วเป็นผู้ที่ประเสริฐ

    นิมิตไม่ใช่สิ่งที่เอามาโจมตีกัน เพราะคนฝึกสมาธิ ย่อมต้องผ่านนิมิตด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา นิมิตจึงเป็นเครื่องนำจิตให้เป็นสมาธิ แต่ก็ไม่ควรยึดติด เพราะ การยึดติดจะทำให้ใจเราไม่สงบ ไม่สามารถปล่อยวางได้ นิมิตจึงสักว่านิมิต มีแล้วไม่ควรยึดติด

   ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติสมถะเท่านั้นที่ได้นิมิต แม้วิปัสสนาก็มีนิมิตเช่นกัน ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาถึงแล้ว ก็จะรู้เอง ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาไม่ถึงก็จะไม่รู้

   นิมิตในวิปัสสนา เช่น รูปและนาม ในเบญจขันธ์ทั้ง 5 คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ , มีเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นต้น

    ถ้ายึดติดอยู่ในคำว่า ว่าง ในรูปและนาม นิมิตความแปรเปลี่ยนแปลงแห่งสังขาร
    ยึดติดในรูป เรียกว่า รูปนิมิต หรือรูปธรรม
    ยึดติดในนาม เรียกว่า อรูปนิมิต หรือนามธรรม
    คำว่า ว่าง แห่งเบญจขันธ์ทั้งหลาย จะเป็นอากาศธาตุ เรียกว่า อรูปนิมิต
   ถ้าปฏิบัติวิปัสสนาขั้นนี้แล้วยึดติด ก็ไม่สามารถละวางได้ จะเป็นวิปัสสนูปกิเลสแทน

    เพราะฉะนั้น การปฏิบัติวิปัสสนา ถ้ายึดติด จะเป็นวิปัสสนูปกิเลส ไม่สามารถผ่านด่านในแต่ละขั้นของวิปัสสนา แยกรูปและนามออกจากกันได้ ไม่สามารถละวางได้ เพราะยึดติดในอรูปเสียแล้ว ซึ่งเป็นกิเลสขั้นละเอียด ยิ่งปฏิบัติละกิเลสเท่าใด ยิ่งเจอกิเลสขั้นละเอียดเท่านั้น

   การยึดติดในรูปนิมิต และรูปธรรม เป็นกิเลสขั้นหยาบ
   การยึดติดในอรูปนิมิต และนามธรรม เป็นกิเลสขั้นละเอียด

    การปฏิบัติวิปัสสนาต้องไม่ยึดติด ละวางได้ แม้แต่คำว่า ว่าง ก็ต้องปล่อยวางทั้งหมดไม่ยึดติด ถึงจะเป็นวิปัสสนา จะไม่ถูกกิเลสเข้ารบกวนและเข้าแทรกจิต

   ไม่ว่าจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนา ถ้ายึดติดในนิมิต จำเป็นต้องแก้อารมณ์ของกรรมฐาน ไม่ให้ยึดติด สามารถปล่อยวางได้ ใจเราจึงสงบ เพราะมีสติเป็นที่ตั้ง

ยึดถือเพื่อยึดติด กับยึดถือเพื่อปล่อยวาง แตกต่างกันอย่างไร

   การปฏิบัติธรรมเริ่มต้น ยึดถือศีลมากเกินไป จนปล่อยวางไม่ได้แม้กระทั่งศีลของตนเอง เกิดเป็นอัตตาขึ้นมาว่า ศีลของตนเองดีกว่า เด่นกว่า เลิศกว่า ผู้อื่น

   การปฏิบัติขั้นของสมาธิ ก็ยึดติดทั้งอารมณ์ปีติและสุขทั้งหลาย จนไม่ได้ปล่อยวาง ในความจริงนั้น อารมณ์ของปีติและสุข เป็นองค์ฌาน 2 – 3 ทุกคนที่ปฏิบัติสมาธิ ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ใช่สิ่งที่ยึดติดอะไร ควรจะปล่อยวาง

   การปฏิบัติปัญญาของผู้นั้น เป็นวิปัสสนา ก็ยึดติดในความรู้ของตน ที่เกิดการจากอบรมปัญญาในวิปัสสนากรรมฐาน จนไม่สามารถละวางได้ เกิดเป็นอัตตา และ ทิฐิ ขึ้นมา จึงเป็นอุปสรรคด่านแรก สำหรับการได้ดวงตาเห็นธรรม เรียกว่า ยึดถือเพื่อยึดติด

   การปฏิบัติธรรมต้องยึดถือแบบอย่างที่ดีงาม มาจาก ศีล สมาธิ ปัญญา ก่อนแล้วปฏิบัติตามขั้นต่างๆ เริ่มต้น ก็ต้องถือเอาบริกรรมภาวนา และนิมิต เพื่อนำจิตให้เป็นสมาธิ ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน จนกระทั่งปล่อยวางได้ในที่สุด เรียกว่า ยึดถือเพื่อปล่อยวาง

   การปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นสมถะหรือวิปัสสนา พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราปฏิบัติธรรม เพื่อหลุดพ้น ละวาง ไม่ยึดติด จึงจะพ้นไปจากทุกข์ได้ การปฏิบัติสมาธิจะปฏิบัติสมถะหรือวิปัสสนาก็ได้ สุดแล้วจริตของคนเรา

   ทุกวันนี้ สายอภิญญา หรือปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติ จะโดนโจมตีมากกว่า สายวิปัสสนา จึงต้องทำใจปลง และปล่อยวาง ควรซ่อนความสามารถเอาไว้ ไม่ควรให้ใครรู้ว่า เรามีอะไร
   การมีอภิญญาสมาธิ จะให้ใครรู้ไม่ได้ ควรซ่อนความสามารถที่แท้จริงของตนเองเอาไว้
   การปฏิบัติเจโตวิมุตติ เจริญรอยตามพระอรหันต์สายอภิญญา จะโดนคนโจมตีง่ายกว่า สายวิปัสสนา คนที่โจมตีว่า มีอภิญญาแล้วยึดติด เขาไม่ได้ใช้ปัญญาพิจารณาให้ถ่องแท้ว่า คนอื่นปฏิบัติถึงขั้นโลกุตตระหรือขั้นโลกีย์

  ขั้นโลกุตตระไม่ยึดติดอยู่แล้ว แต่ขั้นโลกีย์ปฏิบัติได้ถึงไหน ยังติดอยู่ในปีติหรือสุข หรือสามารถปล่อยวางได้ เรื่องแบบนี้ไม่มีใครคิดและวิเคราะห์ให้ละเอียด จึงยกมาโจมตีกัน

   ถ้าจะพูดหรือสนทนาธรรม ควรพูดกับผู้ที่อยู่ชั้นเดียวกัน หรือคนที่มีเหมือนกัน หรือปฏิบัติเหมือนกัน และเป็นกัลยาณมิตรเท่านั้น จะได้ไม่มีปัญหา แต่ไม่พูดเลยเป็นดีที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น