หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

กสิณ กรรมฐามอันทรงพลัง #004 :: จิต

จิตนิ่งกับจิตดับ แตกต่างกันอย่างไร


   จิตนิ่ง คือ การทำจิตให้สงบ ด้วยสติ จิตจะนิ่งไม่ไหลตามนิมิต

   จิตดับ คือ การเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิ เรียกว่า ฌานสมาบัติ

   การที่จิตจะนิ่ง จะเข้าฌานแค่ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปสมาธิก็ได้

   การที่จิตจะดับ จะเข้าฌานสมาบัติเท่านั้น , ถ้าเข้าอัปปนาสมาธิแบบอื่นๆ จิตจะไม่ดับ

   จิตนิ่งนั้น ไม่ใช่ว่าจิตจะดับเสมอไป จิตนิ่งยังสามารถเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา ควรแยกแยะให้ละเอียดว่า เข้าฌานหรือญาณอยู่ บางคนคิดว่า จิตนิ่งเป็นอัปปนาสมาธิ ถึงขั้น จิตดับก็มี ซึ่งรู้เพียงอย่างเดียว ยังรู้ไม่ละเอียดในองค์ฌานและญาณทั้งหมด

   การฝึกจิตให้นิ่ง มีข้อดี คือ จิตเราจะไม่ไหลตามนิมิต เพราะมีสติเป็นที่ตั้ง จิตนิ่งสามารถเข้าสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ 1 – 4 หรือเจริญวิปัสสนาฝึกสติ ทำจิตนิ่ง ใจเราจะสงบ พิจารณาธรรมะแล้วเกิดปัญญา (จิตนิ่ง จึงเป็นได้ทั้งสมถะและวิปัสสนา)

   โดยส่วนมากแล้ว คำว่า จิตนิ่งนั้น คนนึกว่าเป็นฌานสมถะอย่างเดียว ลืมญาณที่เป็นวิปัสสนาไปก็มี ความสงบนิ่ง หรือจิตนิ่ง เมื่อแยกให้ละเอียดทั้งสมถะและวิปัสสนา ดังนี้ คือ

   ความสงบนิ่ง 3 อย่าง
  1. ความสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง
  2. ความสงบนิ่งในนิมิตสมาธิ
  3. ความสงบนิ่งแห่งอุเบกขาสมาธิ

อธิบายขยายความ

   ความสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง หมายถึง จิตสงบนิ่งชั่วขณะหนึ่ง หรือชั่วคราว เป็นได้ทั้งสมถะ คือ อารมณ์ของฌานที่ 1 และเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา เรียกว่า ขณิกสมาธินั้นเอง
   ความสงบนิ่งในนิมิตสมาธิ หมายถึง จิตสงบนิ่งอยู่อารมณ์แห่งสมาธิและในนิมิตต่างๆ เรียกว่า อารมณ์ของผู้ที่ได้นิมิตสมาธิ ตั้งแต่ฌานที่ 2 – 3
   ความสงบนิ่งแห่งอุเบกขาสมาธิ หมายถึง จิตสงบนิ่งและปล่อยวางแล้ว จึงไม่หวั่นไหวไปตามนิมิตต่างๆ เรียกว่า อุเบกขาสมาธิ หรืออารมณ์ของฌานที่ 4

ความสงบนิ่งในอารมณ์ของวิปัสสนา


   ความสงบนิ่งในอารมณ์ของวิปัสสนานั้น (จิตจะไม่ส่ายไปเพราะความฟุ้งซ่าน) ที่เรียกว่า ขณิกสมาธิ

   เมื่อพิจารณาธรรมะก็มีสติเป็นที่ตั้ง จิตก็สงบนิ่ง อยู่ในอารมณ์ของขณิกสมาธิ ไม่ส่ายไปเพราะความฟุ้งซ่าน พิจารณาธรรมะแล้วก็เกิดปัญญา ปล่อยวางใจจากความยึดมั่นถือมั่น

   วิปัสสนานั้นจะเข้าสมาธิไม่ลึกเหมือนสมถะ (สมถะมุ่งเน้นตรงไปอุเบกขาฌานทีเดียวเลย) แต่วิปัสสนาเข้าแค่ขณิกสมาธิก่อน โดยมีสติเป็นที่ตั้ง พิจาณาธรรมะแล้ว จึงปล่อยวางทีหลัง เกิดเป็นอุเบกขาญาณของวิปัสสนา

   ความสงบนิ่งของสมถะ เรียกว่า ฌาน
   ความสงบนิ่งของวิปัสสนา เรียกว่า ญาณ

จิตดับ


   การเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิ ไม่ได้จิตดับเสมอไป ควรวิเคราะห์ให้ละเอียด การเข้าอัปปนาสมาธิที่ควรรู้ มีหลายระดับแห่งสภาวะจิต ในการเข้าสมาธิ ดังนี้ คือ
  1. เข้าอัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นฌานสมาบัติ
  2. เข้าอัปปนาสมาธิ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ได้นั่งหลับตา แต่ลืมตาเข้าฌาน
  3. เข้าอัปปนาสมาธิ เป็นการเข้าฌานและญาณไปพร้อมๆกัน

อธิบายขยายความ

   การเข้าอัปปนาสมาธิ จนถึงขั้นฌานสมาบัติ จิตจะดับแน่นอน และเป็นหนึ่งเดียว ไม่สามารถยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนา เน้นเจริญสมถะอย่างเดียว ไม่เน้นเจริญวิปัสสนาควบคู่ไปด้วย

   การเข้าอัปปนาสมาธิ ในอิริยาบถต่างๆ ไม่ได้นั่งหลับตา แต่ลืมตาเข้าฌาน (เข้าฌานแบบนี้ จิตยังไม่ดับ) เช่น พระโมคคัลลานะ เข้าฌาน 4 เหาะเหินเดินอากาศ หรือพระสาคตะสำเร็จฌาน 4 เพ่งซากศพอสุภะ จิตของท่านยกขึ้นสู่วิปัสสนา สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นต้น

   การเข้าอัปปนาสมาธิ เป็นการเข้าฌานและญาณไปพร้อมๆกัน (เข้าฌานแบบนี้ จิตยัง ไม่ดับ) เป็นการเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาไปพร้อมกัน สำหรับคนที่ได้ญาณหยั่งรู้ เป็นต้น

หมายเหตุ : การเข้าอัปปนาสมาธิ คือ เข้าฌานขั้นสมาบัติเท่านั้น ที่จิตดับ , การเข้าฌานอัปปนาสมาธิแบบอื่นๆ จิตเรายังไม่ดับ จึงควรแยกแยะและพิจารณาให้ละเอียด

เจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติ ปฏิบัติไม่เหมือนกัน


   การปฏิบัติแบบเจโตวิมุตติไม่กลัวจิตดับ เพราะเข้าฌานสมาบัติถึงขั้นจิตดับ ก็สามารถใช้วสีสมาธิ เข้าฌานถอยหลังมาที่ขณิกสมาธิ เพื่อเจริญวิปัสสนาต่อ หรือเข้าฌานจิตดับแล้ว สามารถใช้วสีสมาธิถอยหลังมาที่องค์ฌานใดๆก็ได้ พลิกจิตเป็นวิปัสสนา พิจารณาความเกิดดับของจิต เห็นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน เป็นการหลุดพ้นด้วยเจโตวิมุตติ

   นอกจากนี้ เจโตวิมุตติจะเข้าฌานแบบอัปปนาสมาธิจิตยังไม่ดับก็ได้ ในกรณีที่ยังเข้าฌานแบบจิตยังไม่ดับ จะอยู่ในองค์ฌานใดๆ แล้วก็พลิกจิตเป็นวิปัสสนา พิจารณาความเกิดดับของจิต หรือเข้าฌานถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้วใช้วสีสมาธิ เข้าฌานเดินหน้าถอยหลัง มาอยู่ที่ขณิกสมาธิ เปลี่ยนเป็นวิปัสสนาทีหลังก็ได้ สุดแล้วแต่จริตของคนเราเป็นหลัก

   การปฏิบัติแบบปัญญาวิมุตติกลัวจิตดับ เพราะจะเข้าฌานแค่ขณิกสมาธิ เพื่อให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน เกิดสติพิจารณาธรรมะ เกิดปัญญา เห็นแจ้งชัดในสัจธรรมทั้งปวง

   ขณิกสมาธิสมถะเป็นฌาน ขณิกสมาธิวิปัสสนาเป็นญาณ จึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน
   ปัญญาวิมุตติ จึงกลัวจิตดับ เพราะจะไม่เกิดปัญญาพิจารณาธรรมะ
   ปัญญาวิมุตติ จึงปฏิบัติไม่เหมือนเจโตวิมุตติ ซึ่งเจโตวิมุตติ ไม่กลัวจิตดับ
   เจโตวิมุตติ จึงเน้นเจริญสมถะให้ได้ฌานก่อน แล้วมาต่อเป็นวิปัสสนาทีหลัง
   ปัญญาวิมุตติ จึงเน้นเจริญวิปัสสนาล้วน เพื่อให้เกิดปัญญา แจ้งชัดในสัจธรรม

   การจะปฏิบัติเจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ อันไหนก็ได้ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่า จริตของเราเป็นหลัก จึงควรพิจารณาให้เหมาะสมกับจริตของเราเอง

การฝึกสมาธิใช้ตาเพ่ง กับใช้จิตเพ่ง แตกต่างกันอย่างไร


    สำหรับผู้เจริญกสิณใหม่ๆแล้ว จะใช้ตาเพ่ง จะหลับตาและลืมตา จนจำติดตาเป็นนิมิต สำหรับผู้เจริญกสิณจนชำนาญแล้ว จะใช้จิตเพ่งกสิณนั้นๆ จนได้นิมิตขึ้น

   การเจริญกสิณ ใจจะสงบเป็นสมาธิ เพราะจิตจำนิมิตติดตาจนแม่นยำ แล้วเกิดความสงบขึ้นต่างหาก ความสงบจึงเกิดขึ้นจากภายในจิต ไม่ใช่อยู่ที่ภายนอก

   การเจริญกสิณที่รูปลักษณ์ภายนอกหรือวัตถุต่างๆ บางครั้งใจก็ไม่สงบ รูปแบบภายนอก มีไว้เพื่อฝึกให้ได้นิมิต ส่วนใจจะสงบหรือไม่ ต้องอยู่ที่การเจริญสติควบคู่ไปกับกสิณของผู้นั้น เป็นสำคัญ ธรรมชาติที่สงบเป็นแต่กายวิเวก จิตใจจะสงบเป็นสมาธิหรือไม่ ก็อยู่ที่ใจท่านเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น